ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

การมองเห็นโอกาส คือการสร้างโอกาสในการมองเห็น

การมองเห็นโอกาส คือการสร้างโอกาสในการมองเห็น

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน)

การรักษาดวงตาให้ผู้คนผ่านแผนกจักษุ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และงานออกหน่วยผ่าตัดตาเคลื่อนที่ทุกสัปดาห์ตลอด 20 ปี คือการสร้างโอกาสให้ผู้มีปัญหาทางสายตา ได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง

แม้จะเป็นงานยิ่งใหญ่และได้ผลลัพธ์น่าชื่นใจ แต่นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว หัวเรือใหญ่ในการสร้างโอกาสเหล่านี้ กลับไม่หยุดอยู่แค่สิ่งที่ทำ เขาและทีมได้ปลุกปั้นโครงการโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เพื่อเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสในการมองเห็นให้มากขึ้นและมากขึ้นกว่าเก่า

ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จึงมองเห็นโอกาสที่จะสนับสนุนให้ศักยภาพและความมุ่งมั่นของทีมนี้ให้สัมฤทธิ์ผลได้เร็วขึ้น เพราะยิ่งเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่ผู้สูญเสียดวงตาจะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างสดใสอีกครั้งก็ยิ่งเร็วมากขึ้นเท่านั้น


เพราะมองเห็นโอกาส เราจึงร่วมสร้างโอกาสนี้ไปด้วยกัน

1. มอบโอกาส และมองเห็นโอกาส

“จริงๆ ต้องเริ่มต้นจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว มีการออกหน่วยผ่าตัดตาเคลื่อนที่ เราทำอย่างนี้มา 20 ปี ออกไปช่วยคนที่มีปัญหาเรื่องตาในถิ่นทุรกันดาร เราค้นพบว่าสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ตาบอด มาจากต้อกระจก ถามว่าทำปีละครั้งเหรอ เปล่าครับ ทำทุกอาทิตย์เลย เพื่อตั้งเป้าให้ได้สัก 10,000 ตาให้ได้ นั่นคือการเริ่มต้นของโครงการในครั้งแรก” นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของโครงการที่สร้างชื่อให้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และเมื่อถามหาเหตุผล คุณหมอเล่าว่าเป็นเพราะความตั้งใจตั้งแต่เรียนจบว่าอยากออกไปช่วยให้คนต่างจังหวัด แต่หัวใจสำคัญไม่ใช่จุดเริ่มต้น หากคือการทำให้ทีมมองเห็นโอกาสนี้ไปด้วยกัน “โชคดีที่องค์กรนี้เป็นองค์กรที่ให้โอกาสได้มากกว่า แต่ถ้าลงไปแล้วทีมไม่อยากทำงาน โครงการนี้ก็จะดำเนินไปต่อเนื่องไม่ได้ ผมจึงรวบรวมคนลองไปออกหน่วยกัน ทำให้การผ่าตัดเกิดขึ้นได้จริง คุ้มค่าจริงด้วย ผมชวนทีมทุกคนมาอยู่หน่วยคัดกรองเองตั้งแต่ต้น เราเห็นคุณยายที่เดินเข้ามาหาเราเลย ได้ซักประวัติ จนได้เห็นตอนเปิดตาเมื่อผ่าตัดเสร็จ เห็นคนกลับมามองเห็นอีกครั้ง ทีมงานก็จะร้องไห้ไปด้วย ผมว่าสิ่งที่สำคัญคือเราไม่ได้มาเพื่อผ่า แต่เราผ่าเพื่อได้บุญ ได้กุศลไปด้วย ผมจะเน้นเรื่องนี้เสมอ คุณผ่าเสร็จคุณได้เห็นเลยว่าคุณช่วยเขาได้ยังไง คุณยายที่ตอนมาหิ้วปีกกันมาเลย แต่วันกลับคุณยายเดินปร๋อเลย มันก็มีความสุข พอมันสร้างความสุขแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทีมก็ได้เรียนรู้ “เราอาจจะไม่ค่อยได้เข้าวัด แต่สิ่งที่พวกเราทำมันเป็นแรงบันดาลใจ ทุกครั้งผมจะถามทีมว่ามีเรื่องดีๆ มาเล่าสู่กันฟังไหม นี่คือสิ่งที่เราจะสื่อสารกันตลอด จนวันหนึ่งเรามีคนใหม่ๆ มาเพิ่มเติมในทีมมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็พยายามเอาเรื่องราวแบบนี้มาแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เขาภาคภูมิใจกับงานที่มีคุณค่า”


2. แรงบันดาลใจในแววตา

และคุณค่าที่ว่านั้น คือแววตาของคนไข้ “ตอนที่ผมไปออกหน่วยที่กำแพงเพชร ได้ตรวจตาคุณยายคนหนึ่ง ลูกสองคนหิ้วปีกแกมานั่ง ตาแกเหม่อลอยเพราะมองไม่เห็น ระหว่างตรวจ ลูกเขาพูดขึ้นมาว่า “ยายคนนี้ กินข้าวกับน้ำตามาเป็นสิบปี” ไม่ใช่น้ำปลานะครับ น้ำตา ผมก็ถาม กินยังไงกินกับน้ำตา ลูกก็สาธิตให้ดูเลยครับ ให้คุณยายถือช้อน แล้วก็จับมือคุณยาย เคาะจานข้าวก๊องๆ เคาะจานกับข้าวก๊องๆ คุณยายก็ตักข้าวไป กินไป ร้องไห้ไปมาเป็นสิบปี วันนั้น เราตัดสินใจผ่าตัดให้คุณยายทันที หลังจากผ่าตัดเสร็จเรียบร้อย เช้าวันรุ่งขึ้น จากคุณยายที่ผมฟู หวีผมเรียบแปล้ ยกมือไหว้ผมมาแต่ไกล วินาทีนั้นผมรู้ว่าคุณยายแกมองเห็นแล้ว ตำนานการกินข้าวกับน้ำตาก็น่าจะหมดไป แต่ผมเชื่อว่ายังมีคุณยายอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับการกินข้าวกับน้ำตา นั่นคือแรงบันดาลใจของพวกเราอีกหลายๆ คน” คุณหมอค่อยๆ เรียบเรียงความประทับใจจากการออกหน่วยผ่าตัดให้เราฟังอย่างช้าๆ เต็มไปด้วยรายละเอียดแม่นยำ คุณยายที่ยะลาเลือกไม่ไปหาหมอตาเพราะต้องดูแลลูกชายที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แต่เมื่อได้กลับไปออกหน่วยในพื้นที่ห่างไกลอีกครั้ง คุณยายก็ได้กลับมามองเห็น คุณตาที่ทั้งตาบอดทั้งสองข้าง อีกทั้งยังหูไม่ได้ยิน ซ้ำยังเป็นคนไร้บ้าน แต่คนในซอยช่วยกันพามาผ่าตัด และลงขันพร้อมอาสาช่วยดูแลหลังการผ่าจนคุณตากลับมามองเห็น หรือเด็กหญิงที่ค่อยๆ สูญเสียดวงตาไปทีละข้าง รับการผ่าตัดถึง 2 ครั้งก็ไม่หาย แต่เพราะคุณหมอเชื่อในคำว่าโอกาส จึงขอผ่าตัดครั้งที่ 3 และทำให้เด็กหญิงกลับมามองเห็นอีกครั้ง

ทั้งหมดนั้นคือแรงบันดาลใจ ให้พวกเขาไม่หยุดสร้างโอกาสในการมองเห็นให้กับคนที่สูญเสียมันไป

3. โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว’ โอกาสใหม่ที่กำลังก่อร่าง

จากการทำงานต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือการออกหน่วยผ่าตัดเคลื่อนที่ไปทั่วประเทศ ทำให้ชื่อเสียงของทีมจักษุ โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นที่ยอมรับ ผู้ป่วยมากมายเลือกเดินทางไกลข้ามจังหวัดมาทำการรักษา เพราะเชื่อมั่นในทีมแพทย์ จากแผนกเล็กๆ จึงต้องขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

“เรื่องตาไม่ใช่แค่ต้อกระจก ยังมีเรื่องประสาทตา เรื่องต้อหิน เรื่องอีกมากเต็มไปหมด ภาคประชาชนก็ดำริกันว่า เราควรจะสร้างโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านจักษุสักโรงพยาบาลหนึ่ง ภาคเอกชนอาจมีอยู่ แต่ราคาสูงมาก เราจึงตั้งโรงพยาบาลชื่อว่าจักษุบ้านแพ้วขึ้นครับ”

แต่การก่อสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วไม่ใช่เรื่องง่าย ได้มีการจัดการระดมทุนมาตั้ง พ.ศ. 2558 หากกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ใช้เวลานานกว่าที่ใจคิด “เราเปิดระดมทุน แต่รายได้ก็ไม่พอ จำได้ว่าช่วง พ.ศ. 2562-2563 เราก็ไปกราบทูลพระสังฆราชฯ เพื่อให้ทรงเป็นประธานระดมทุน ได้มาหนึ่งร้อยล้าน สร้างส่วนผู้ป่วยนอกได้สำเร็จ แต่เฟสสำหรับผู้ป่วยใน รวมถึงห้องผ่าตัด เรายังไม่สามารถทำได้” คุณหมอเล่า ก่อนจะบอกว่าหลังจากนั้น มีโอกาสได้พบกับคุณสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ในฐานะคนไข้ที่เข้ามารับการรักษา คุณหมอจึงได้เล่าเรื่องราวที่เคยทำ รวมทั้งโครงการที่มุ่งมั่นอยากให้เกิดขึ้นให้ประธานมูลนิธิฟัง และนั่นทำให้ความฝันเฟสสองของคุณหมอเริ่มเห็นเค้าลางของโอกาส


4. โอกาสที่ทำให้เป้าหมายชัดและเร็วยิ่งขึ้น

“ก่อนหน้านี้เรามีห้องผ่าตัดตาเพียง 2 ห้อง หมอผ่าตัดเยอะแค่ไหนก็ต้องต่อคิว ทำให้การผ่าตัดต้องใช้เวลา หมอต้องเร่งรีบผ่าตัดให้มาก ผ่าตัดให้ทัน การที่เราขยายห้องผ่าตัดให้เป็น 9 ห้องได้ จะทำให้เราผ่าตัดได้มากขึ้น เร็วขึ้น เรามีความเชื่อว่า หากคนไข้ตาบอดต้องรอคิวไป 3 เดือน 6 เดือน ถ้าเราทำให้เขาได้วันนี้เลย มันน่าจะช่วยให้เขากลับมามีชีวิตใหม่ได้เร็วขึ้น หน้าที่ของเราคือให้เขาได้รับการผ่าตัดให้เร็วที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ” คุณหมอย้ำถึงความสำคัญของงานส่วนนี้

“ณ ตอนนั้นเราคาดการณ์ว่าการจะทำห้องผ่าตัดต้องใช้งบสูงมาก กำลังคิดอยู่ว่าอาจจะต้องทำแคมเปญระดมทุน แต่ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิดอยู่ มันไม่ง่ายเลย เราเชื่อว่ากว่าจะได้ครบน่าจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี แต่มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ตัดสินใจที่จะช่วยเราทั้งก้อน เราดีใจมาก เร่งเดินหน้างานเลย เพราะยิ่งเราได้ห้องผ่าตัดเร็วที่สุดเท่าไหร่ คนไข้ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ที่สุดเท่านั้น” ในฐานะผู้อำนวยการผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้มยินดี และแววตามุ่งมั่นที่พร้อมจะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ไปถึงได้เร็ววัน

“69.9 ล้านบาท เป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดจากผู้บริจาครายเดียวที่เราเคยได้รับ แต่มูลนิธิฯ บอกว่า เงินนี้เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับ ทีมจึงตั้งใจกันว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ห้องผ่าตัดนี้เสร็จ เราจะใช้ห้องผ่าตัดนี้ให้คุ้มค่า ช่วยผู้ป่วยให้มากที่สุด”

5. หัวใจสำคัญ คือทีมที่มีหัวใจ

โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นองค์การมหาชน สิ่งที่แตกต่างคือการบริหารจัดการที่ต่างไปจากโรงพยาบาลรัฐทั่วไป ในเชิงงบประมาณ บ้านแพ้วไม่ได้งบสนับสนุนทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ อาคารที่ก่อร่างสร้างขึ้น ก็ได้รับเงินอุดหนุนเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ในเชิงบริหาร โรงพยาบาลเล็กๆ แห่งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าดำเนินงานมาได้กว่า 22 ปี และเป็นที่ยอมรับในการรักษา และเมื่อเรายกมือถามถึงสิ่งที่ทำให้แตกต่าง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบอกว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีคิด

“ทำไมบ้านแพ้วอยู่มาได้ 22 ปีแล้ว และสามารถสร้าง productivity ได้มากกว่า นั่นคือสิ่งที่เราต้องพิสูจน์ให้เห็นด้วยการทำงานอย่างหนัก วิธีคิดเราต้องไม่เหมือนภาครัฐทั่วไป ต้องตอบโจทย์คนมาใช้บริการให้ถูกต้องที่สุดให้ได้ เปลี่ยนวิธีคิดของคนในองค์กรอย่างมาก ความโชคดีของผมคือ 70% ของคนในองค์กรเป็นเจน Y ก็เลยทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่ได้ยากเย็นมากนัก ผมมักจะบอกเสมอว่า หากเราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ถ้าบอกว่าเราทำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า มันมี 2 มุม คุณยายอายุ 80 ปีเป็นคนมารักษา ถ้าคิดแบบเดิม เราก็จะทำห้องหับให้ถูกใจคุณยาย แต่ลูกสาวที่เป็นคนพามา อาจจะเห็นว่าโรงพยาบาลโบราณขนาดนี้จะไหวเหรอ ห้องผ่าตัดคงโทรมมาก ก็ต้องถามว่า คนรับบริการคือคุณยาย แต่คนตัดสินใจคือลูกสาว เราก็ต้องทำให้โครงการนี้ตอบโจทย์คนที่ตัดสินใจ คนตัดสินใจอยากได้โรงพยาบาลที่ทันสมัย ดูดี มีแพทย์ที่เก่ง มีความสามารถ สะอาด นั่นคือสิ่งที่เราต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้เราอยู่รอดให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราจะเห็นแตกต่างไป

“และสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ทุกคนจะเห็นได้ คือความทุ่มเทของทีมงาน โรงพยาบาลหลายๆ แห่งอาจจะมีเงิน มีเครื่องมือ มีอาคาร มีห้อง แต่ถ้าทีมเขาไม่ทำล่ะ เพราะฉะนั้น ทีมสำคัญที่สุด ผมเชื่อว่ามูลนิธิสุทธิรัตน์ฯ เองก็เห็นความตั้งใจของทีมเรา เห็นสิ่งที่เราทำมาเกือบ 20 ปี ว่าทีมเรามุ่งมั่นที่จะช่วย”

เพราะทีมที่มีหัวใจ และพร้อมสร้างโอกาสในการมองเห็นให้คนไข้อย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน