ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องเล่าจากชาวนาที่เคยป่วย จนต้องลุกมาเปลี่ยน ‘แปลง’ นาให้ปลอดเคมี

เรื่องเล่าจากชาวนาที่เคยป่วย จนต้องลุกมาเปลี่ยน ‘แปลง’ นาให้ปลอดเคมี

การทำนาเคมีส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากแค่ไหน น่าจะเป็นสิ่งที่เรารู้กันมานานปี สำหรับบางคนผลกระทบจากเคมีอาจมีให้เห็นกันจะๆ แต่กับหลายคนเคมีอาจเป็นสิ่งที่ค่อยๆสะสม รอวันออกฤทธิ์โดยไม่ทันได้รู้ตัว...

แม้ไม่ได้เห็นผลกระทบกันทันตา แต่เราเชื่อว่าชาวนาทุกคนย่อมเป็นกังวลเรื่องสุขภาพของตนเองกันอยู่แล้ว แต่การจะเปลี่ยนนาให้ห่างไกลสารเคมี ก็เป็นเรื่องที่หลายคนกล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่รู้ว่าจะเวิร์กกว่าที่เป็นอยู่มากแค่ไหน แล้วที่เขาว่านาอินทรีย์ทำง่าย อยู่ได้ ไม่เสียสุขภาพมันจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นงานนี้เราคงต้องชวนเกษตรกรที่ทำเคยเปลี่ยนแปลงนาจริงๆ มาเฉลยให้ฟังแล้วล่ะ


พี่นกน้อย - นกน้อย ศรีนวลมาก คือหัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลคลองนกกระทุง ที่เริ่มต้นสร้างเครือข่ายชาวนาอินทรีย์ในชุมชนคลองนกกระทุง จังหวัดนครปฐม จาก 3-4 ครัวเรือน การทำจริงเปลี่ยนจริงของพี่นกน้อย ทำให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์นี้ขยายใหญ่จนมีสมาชิกอบอุ่นเกือบ 20 ครัวเรือน มาคอยช่วยกันปลูกข้าว แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร และส่งข้าวจำนวนมากไปขาย โดยร่วมงานกับมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เพื่อนบ้านในชุมชน

กว่าจะมาเป็น The Real Model ของเพื่อนๆ เกษตรกรแบบนี้ พี่นกน้อยเองก็ผ่านมาอะไรเยอะ ลองผิดลองถูกมาก็ตั้งหลายหน แต่เส้นทางสู่เกษตรอินทรีย์ของพี่นกน้อยจะท้าทายแค่ไหนเราคงเล่าเองไม่ได้ เรื่องแบบนี้ต้องไปฟังจากปากของเจ้าตัวเอง เอาล่ะ! ไปฟังเรื่องราวของพี่นกน้อยกัน

“เดิมเราทำนาเคมีมาตลอด เพราะรอบข้างเราเป็นนาเคมีทั้งหมด เราขายข้าวได้ ได้ผลผลิตเยอะ เราก็ทำมาเรื่อยๆ เหมือนทำตามกันมาแหละ ไม่เคยไปหาความรู้หรอกว่าจริงๆ แล้วนาเคมีดีหรือไม่ดีอย่างไร”

พี่นกน้อยชวนเราย้อนกลับไปในวันเก่า ด้วยความที่เพื่อนบ้านทุกคนปลูกข้าวเคมีกันหมด เธอจึงไม่เคยคิดเปลี่ยนไปทำเกษตรแบบอื่น หรือศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการทำเคมีเลย เพราะมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ว่านาเคมีปลูกง่าย ได้ผลผลิตเยอะ และปลูกยังไงก็ขายได้ แล้วเแบบนี้จะเสี่ยงไปทำเกษตรแบบอื่นทำไมล่ะ

แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึง!

ทุกๆ ปีพี่นกน้อยต้องไปตรวจสุขภาพกับสาธารณสุขเพื่อวัดปริมาณสารเคมีในร่างกาย แต่ไปตรวจยังไงก็เจอสารเคมีในปริมาณสูงจนเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่เองก็เป็นห่วง จึงแนะนำให้พี่นกน้อยลองปรับวิถีชีวิตใหม่ ทั้งลองล้างผักให้สะอาดขึ้นเวลาทำอาหาร และลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ออกห่างสารเคมีบ้าง 

“แต่กลับไปตรวจกี่ครั้งๆ ก็ยังเจอสารเคมี” พี่นกน้อยแจ้งผล และนั่นเป็นจุดที่ทำให้เธอเริ่มคิดว่าแค่ล้างผักสะอาดๆ หรือพยายามหลีกเลี่ยงสารเคมีคงไม่พอ เพราะต้นตอสารเคมีใกล้ตัวอยู่ที่การทำนาของตัวเองต่างหาก 

“เวลาทำนาเคมี ครึ่งเดือนเราต้องหว่านยูเรีย ฉีดยาฆ่าหญ้า รวมแล้วปลูกข้าวแต่ละที ต้องฉีดยาพวกนี้ตั้ง 3-4 ครั้ง ตอนฉีดเราก็ต้องแบกที่ฉีดไว้บนหลัง น้ำยาจะราดหลัง โดนมือ เหมือนเราโดนน้ำยาไปด้วย เราก็ไม่รู้มันจะไปสะสมในร่างกายอีกมากแค่ไหน ดังนั้นถ้าเราไม่รู้จักลดเคมี วันข้างหน้าเงินที่หามาคงต้องไปจ่ายให้โรงพยาบาลหมด”

พอคิดได้แบบนี้พี่นกน้อยเลยเริ่มว่างแผนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุดใหญ่ โดยมีคนในครอบครัวมาเป็นผู้ร่วมภารกิจการเปลี่ยน ‘แปลง’ ในครั้งนี้ด้วย


ปัญหาสุขภาพ ทำให้ฉันกล้าเปลี่ยน ‘แปลง’

“เราเปลี่ยนเพราะเราห่วงสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัว แฟนเราเองก็เป็นเบาหวาน ช่วงแรกเราเริ่มต้นจากการหาผักมาปลูกรอบบ้าน จะได้ไม่ต้องไปซื้อผักจากตลาดที่มีสารเคมีเยอะ และเริ่มมองหาความรู้ที่จะทำสิ่งนี้ไปได้ยาวๆ 

“พอได้ไปอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์จริงจังเราก็เริ่มสนใจ เราได้เจอกลุ่มเพื่อนต่างตำบลที่อยากทำสิ่งนี้เหมือนกัน เลยลองถามแฟนว่างั้นมาลองทำเกษตรอินทรีย์กันดีไหม ค่อยๆ ปรับกันไปทีละนิดตอนนั้นลูกเราก็เรียนจบแล้ว เราไม่มีภาระ เลยคิดว่าคงไม่ต้องหวังเรื่องเงินอะไร”

3 ปีก่อน พี่นกน้อยจึงเริ่มแบ่งบริเวณปลูกผักสวนครัวในรั้วบ้านและปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา โดยเริ่มจากการแบ่งแปลงนาเป็นส่วนเล็กๆ ปลูกข้าวอินทรีย์เพียงส่วนเดียว ในขณะที่นาส่วนอื่นๆ ยังทำนาเคมีอยู่ 

เมื่อได้กินพืชผักอินทรีย์ที่ปลูกเอง พี่นกน้อยก็เริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างผักของตัวเองกับผักที่มีเคมีตามท้องตลาด และเมื่อได้ลดการใช้สารเคมีลง แนวโน้มความเสี่ยงด้านสุขภาพก็ลดลงด้วย แถมผลผลิตที่ออกมายังทำให้พี่นกน้อยอยู่ได้ กินได้ เธอจึงค่อยๆ ขยายแปลงนาอินทรีย์ออกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้นาของพี่นกน้อยปลอดสารเคมีทั้งหมดแล้ว!

“ตอนแรกมันก็ยาก เพราะเขาหาว่าเราบ้า คือการที่เราจะมาทำตรงนี้ ผลผลิตมันได้น้อย คนทำนารอบข้างเขาก็สงสัยว่าเราทำไปทำไม ได้อะไร บางทีเขาก็หาว่าเราบ้าอุดมการณ์นะ”

แม้ใครจะว่ายังไง แต่พี่นกน้อยก็เอ่ยปากอย่างภูมิใจว่าเมื่อกลับไปตรวจสุขภาพในช่วงหลังเธอก็ไม่พบสารเคมีสะสมในร่างกายแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นโรคภัยไข้เจ็บอื่น ทั้งความดัน เบาหวาน และโรครุมเร้าต่างๆ ก็ไม่เคยถามหา ยาก็ไม่ต้องกิน เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงในคราวนั้นเห็นผลคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

อยากทำนาอินทรีย์ได้ใจต้องนิ่ง

ในช่วงแรกที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัว พี่นกน้อยยอมรับว่าทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่น เพราะสารเคมีที่หลงเหลือในดินทำให้ข้าวยังเติบโตไวเหมือนเคย ความท้าทายจึงอยู่ที่การปลูกในครั้งถัดๆ ไปต่างหาก

“หลายคนจะบอกว่าทำเกษตรอินทรีย์แล้วผลมันคงเดิม จริงๆ ไม่ใช่เลยนะ” พี่นกน้อยว่า “อย่างแรกเลย ข้าวอินทรีย์ปริมาณน้อยกว่าข้าวเคมีแน่นอน เพราะเราไม่ได้ใส่ปุ๋ย ไม่ได้ฉีดยา ไม่ได้บำรุง อย่างเก่งเราก็รองพื้นด้วยปอเทืองและปุ๋ยคอกเล็กน้อยให้ดินพอมีสารอาหาร หรือฉีดน้ำหมักบ้าง ที่เหลือข้าวจะกินน้ำและสารอาหารตามธรรมชาติ ดังนั้นจะไปหวังให้ข้าวโตปรู๊ดปร๊าดไม่ได้หรอก มันสู้เคมีไม่ได้อยู่แล้ว

“การจะบอกลาเคมีใจเราต้องนิ่งมาก เพราะถ้ายอมรับไม่ได้ว่าผลผลิตเราลดลง สุดท้ายเราก็จะแอบเอาเคมีมาหยอดทีหลัง แล้วพอไม่มียาฆ่าหญ้า หญ้าก็ขึ้นเยอะอีก เราเลยต้องขยันถอนหญ้าบ่อยๆ ขี้เกียจไม่ได้เลย”


พี่นกน้อยเฉลยเพิ่มเติมว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้การทำนาของเธอผ่านไปด้วยดีจนถึงทุกวันนี้ คือการจดบันทึก วันไหนใส่อะไรลงไปในนาบ้าง ผลผลิตได้เท่าไหร่ ขายได้กี่บาท ทุกอย่างนี้ต้องจดไว้ไม่ให้พลาด เพื่อสุดท้ายเธอจะได้รู้ว่าการทำนาแบบไหนเวิร์กกับนาของตัวเองที่สุด

จากหนึ่งนา สู่ยี่สิบนาในชุมชน

“ถ้าเราทำของเราให้ดีก่อน เดี๋ยวคนอื่นเห็นเขาก็อยากทำตามเราเอง”

ด้วยความตั้งใจของพี่นกน้อย ทุกวันนี้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลคลองนกกระทุงจึงมีสมาชิกร่วมทีมถึง 20 คนแล้ว 

“หลายคนในชุมชนเรามีปัญหาสุขภาพ เขาก็ป่วยเหมือนกับเรา พอเขาเห็นว่าเราเลิกทำเคมีแล้วสุขภาพดีขึ้นก็เลยหันมาร่วมกับเราบ้าง 

“คนจะคิดว่าพอเราชวนคนอื่นมาทำเกษตรอินทรีย์เยอะๆ เราจะมีคู่แข่งหรือเปล่า แต่เราว่ามันคือการมีเพื่อนมากกว่านะ เราจะได้มีกลุ่มช่วยกันพัฒนา ช่วยกันผลิตข้าวที่มีคุณภาพ แล้วเรายังช่วยกันเช็กได้ด้วยว่าผลผลิตของเราปลอดภัยจริงไหม ทุกคนทำตามข้อตกลงของกลุ่มกันหรือเปล่า การทำนาของเราจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

แม้พื้นที่รอบข้างนาพี่นกน้อยจะไม่ได้หันมาทำเกษตรอินทรีย์กันทุกคน แต่พี่นกน้อยก็พยายามทำให้ระบบนิเวศรอบนาห่างไกลจากสารเคมีมากที่สุด ทั้งการทำ ‘แนวกันชน’ จากพืชผักสวนครัวไว้ดักสารเคมีไม่ให้หลุดรอดเข้ามาในนา และมีบ่อพักน้ำ เพื่อกรองสิ่งปนเปื้อนก่อนนำน้ำไปใส่ในทุ่งข้าว 

นอกจากนี้ พี่นกน้อยยังได้เจอกับเพื่อนบ้านผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ที่คอยเข้ามาให้ความรู้และแวะเวียนมาตรวจรับรองมาตรฐาน SALANA PGS ในนาพี่นกน้อยสม่ำเสมอ ทำให้พี่นกน้อยมั่นใจได้ว่าความพยายามเปลี่ยนแปลงนาของเธอนั้นสำเร็จผลเป็นข้าวคุณภาพดีจริงๆ ที่สำคัญ ข้าวทั้งหมดนี้ยังถูกนำไปแปรรูปเป็น ‘ข้าว 5 สายพันธุ์ ศาลานา’ ที่ทุกคนสามารถแวะไปอุดหนุนกันได้ที่  www.salana.co.th


ถ้าปลูกอินทรีย์ คนปลูกหรือคนกินก็สุขภาพดีได้

หากถามว่าตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พี่นกน้อยได้อะไรจากการทำเกษตรอินทรีย์บ้าง พี่นกน้อยจะตอบเราอย่างไม่ลังเลเลยว่า “ได้สุขภาพดี”

“ตอนนี้เราปลูกข้าวอินทรีย์จนชินแล้วเลยไม่คิดว่ามันลำบากอะไร แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องร่ำรวย มีเงินมากมายจากการปลูกข้าวด้วย หลักๆ เราเน้นเก็บไว้กินก่อน ส่วนที่เหลือก็จะรวมกับสมาชิกในกลุ่มส่งข้าวไปขาย มีเหลือเท่าไหร่ก็ขายเท่านั้น

“ตอนนี้ผู้บริโภคเยอะขึ้น แต่คนปลูกข้าวอินทรีย์ยังน้อย อาจเพราะข้าวอินทรีย์ไม่ใช่ข้าวที่ปลูกไม่กี่วันก็เก็บเกี่ยวได้ มันต้องใช้เวลา 110 วันขึ้นไป แล้วก็ต้องเอาข้าวไปเก็บอีก 3 เดือนเพื่อไม่ให้ข้าวแตกเวลาสี รวมเวลาก็ 7 เดือนเข้าไปแล้ว มันใช้เวลานานก็จริง แต่ถ้ามีคนหันมาปลูกข้าวอินทรีย์เยอะๆ ตลาดก็น่าจะเติบโตได้ดีขึ้น ชาวนาเองก็จะได้มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย

 “ข้าวอินทรีย์อาจจะมีราคาแพงกว่าข้าวทั่วไป แต่เราอยากให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าพวกเขาจะได้กินข้าวที่ปลอดภัย ไม่มีสารเคมีแน่นอน เราพูดได้เต็มปากเลยว่าตอนนี้นาเราไม่มีสารเคมี เราห่างเคมีที่สุดเท่าที่จะทำได้” พี่นกน้อยปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม