ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

ส่อง ‘ซั้ง’ หลังลงทะเลปราณ ตามไปดูการทำงาน กับอาสา Goal Together

ส่อง ‘ซั้ง’ หลังลงทะเลปราณ ตามไปดูการทำงาน กับอาสา Goal Together

กลุ่มประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

... แม้ว่าโครงการประจำปีที่เหล่าอาสา Goal Together จะได้มาร่วมแรงร่วมมือกันขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ที่ทะเลปากน้ำปราณ ไม่สามารถจัดขึ้นได้ด้วยมาตรการความปลอดภัยในสถานการณ์โควิด แต่งานอนุรักษ์ไม่ได้หยุดชะงักตามไปด้วย ทางมูลนิธิสุทธิรัตน์ฯ และกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ ยังคงดำเนินการทำซั้งทางมะพร้าว เพื่อเป็นบ้าน หรือแหล่งอนุบาลให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็กไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา

เมื่อคลื่นลมเริ่มสงบช่วงปลายปี มูลนิธิฯ จึงชักชวนอาสาจร คุณหมอนักดำน้ำ สมาชิก Goal Together ที่เคยมาร่วมกิจกรรมวางซั้งเมื่อปี 2563 และอาสาวา นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมาตรฐานอาหาร มาร่วมต่อยอดพัฒนาชุมชนเป็น ‘อาสายั่งยืน’ ในโครงการ กลับไปที่พื้นที่ปากน้ำปราณอีกครั้ง เพื่อเดินหน้างานอนุรักษ์ ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมเพื่อยกระดับกลุ่มผู้ทำประมงพื้นบ้านสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้าแปรรูปให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นได้ ซึ่งมูลนิธิฯ เชื่อว่า การทำไปพร้อมๆ กัน ให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนกว่า 


ลงแรงทำซั้ง ความร่วมมือของชาวประมงในพื้นที่ กับอาสาหลากอาชีพ

    ‘ซั้ง’ อาจจะไม่ใช่คำที่คุ้นเคยกับคนทั่วไปนัก แต่สำหรับวิถีประมงพื้นบ้าน นี่คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวประมงจะนำทางมะพร้าว เถาวัลย์ ไม้ไผ่ หรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ที่หาง่ายในท้องถิ่น มาผูกเป็นกอแล้วทิ้งลงในทะเลเพื่อดึงดูดสัตว์น้ำขนาดเล็กให้มาอยู่อาศัย อนุบาลลูกปูลูกปลาตัวจิ๋วให้เติบโต และขยายพันธุ์ต่อไป 

เพราะเริ่มต้นสนับสนุนกันมาตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารปูม้า เมื่อชาวบ้านอยากใช้ซั้งเป็นอีกเครื่องมืออนุรักษ์ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จึงพร้อมหนุนเต็มที่ และสนับสนุนการวางซั้งกับชุมชนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีโครงการประจำปีอย่าง Goal Together ชวนอาสามาช่วยกันทำซั้งให้ทะเลปราณทุกปี มีผู้คนหลากหลายอาชีพมาร่วมแรงตัดทางมะพร้าว ผูกซั้ง และร่วมกันออกไอเดียต่อยอดงานอนุรักษ์จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอาชีพของแต่ละคน


    แต่ในปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดทำให้กิจกรรม Goal Togerther ต้องเลื่อนออกไป แต่งานอนุรักษ์จะหยุดชะงักไม่ได้ ในเดือนสิงหาคม มูลนิธิฯ และกลุ่มชาวประมงปากน้ำปราณ ก็ยังคงปล่อยซั้งประจำปี จำนวน 75 ซั้ง ตามแนวเขตอนุรักษ์ และทดลองใช้เชือกปอมะนิลาที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติแทนเชือกไนล่อน เพื่อลดผลกระทบในการย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกในท้องทะเล 

นั่นแปลว่า นอกจากลุ้นว่ากุ้ง หอย ปู ปลา จะมาอาศัยในบ้านจัดสรร(ซั้ง)ที่วางลงไปในปีนี้เหมือนเดิมไหม อีกโจทย์ที่เราต้องตามไปดูคือเชือกปอมะนิลาทนทานต่อคลื่นลมมากน้อยแค่ไหนด้วย

ผลลัพธ์น่าชื่นใจของคนในชุมชน

แม้จะไม่ได้ดำลงไปด้วย แต่ลุงเจือ ประธานกลุ่มฯ และหัวเรือใหญ่งานอนุรักษ์ก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าของนักดำน้ำที่ลงไปสำรวจที่ขึ้นมาเปิดภาพถ่ายและวิดีโอที่บันทึกบรรยากาศใต้น้ำขึ้นมาเป็นหลักฐาน ลุงเจือบอกว่า เอาไว้คุยกับหน่วยงานต่างๆ ได้ ว่างานอนุรักษ์ที่ทำเห็นผลลัพธ์อย่างไร และชวนคุยกันกับทีมมูลนิธิฯ ว่า เชือกปอมะนิลา ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดี เพราะทนทานกว่าที่คิดไว้ 

การทำงานอนุรักษ์จริงจังกับกลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำธนาคารปูม้าที่รับฝากปูไข่นอกกระดอง การออกกติกาไม่จับสัตว์น้ำขนาดเล็ก งดออกเรือวันพระแล้วรวมตัวกันเก็บขยะในท้องทะเล ไปจนถึงการวางซั้ง ทำให้ประชากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาเศรษฐกิจที่เคยหายไปอย่างปลาทูกลับมา และในวิดีโอยังเห็นปลาหายากอีกหลายชนิด ที่แวะมาว่ายหน้ากล้องให้รู้ว่าฉันกลับมาแล้ว ลุงเจือเล่ากุศโลบายที่น่าสนใจให้ฟังว่า "นอกจากจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ชาวบ้านยังใช้ซั้งเป็นจุดปักกันเขต ทำข้อตกลงร่วมกับเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ไม่ให้เข้ามาในเขตที่วางซั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำที่เน้นจำนวนในบริเวณชายฝั่งอีกด้วย"   

แม้ปีนี้จะไม่ได้เจอะเจออาสาจากหลากหลายอาชีพมาลงแรงและแชร์ประสบการณ์เพื่องานอนุรักษ์และพัฒนาผ่านโครงการ Goal Together แต่เหล่ากุ้ง หอย ปู ปลา ก็ได้มารวมตัวกันในบ้านใต้ท้องทะเล ออกลูกออกหลาน สร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนด้วยการอยู่ร่วมระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างสมดุลและน่าดีใจ