โครงการ

Close

ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โครงการอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน

โครงการอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน

บ้านปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์


มุ่งอนุรักษ์และ ใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล
และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

     ครอบคลุมตั้งแต่การลดมลพิษการปกป้องไม่ให้เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นฟูู ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืน ผ่านการขจัดประมงที่ผิดกฎหมายและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัดมุ่งอนุรักษ์และ ใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

     มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมจึงร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เริ่มปี 2563) สถานศึกษาภาครัฐ ในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน ด้วยการพัฒนาธนาคารปูม้าการทำบ้านปลาจากวัสดุธรรมชาติ รวมถึงการแปรรูปสินค้า เพื่อให้เป็นต้นแบบของการทำประมงพื้นบ้านที่มี ความยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ และไม่สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในระยะยาว รวมไปถึงสนับสนุนโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟู หญ้าทะเล ฟื้นฟู ความหลากหลายของนิเวศ บ้านของสัตว์ใต้ท้องทะเล เพื่อให้ระบบนิเวศทางทะเลของไทยกลับมามี ความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลต่อดีทรัพยากรที่หลากหลาย

เป้าหมายโครงการ
     ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านและผลักดันเกษตรกรผู้ทำประมงสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยการ “ยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน” โดยดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พร้อมดำเนินกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชน สถานศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนตลอดแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์


ความสําคัญของโครงการ
     อาชีพทำประมงพื้นบ้าน เป็นอาชีพที่สร้างรายได้และเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชน แต่ในขณะเดียวกัน “หากวิธีการทำประมงไม่ถูกต้อง ก็เป็นการทำลายทรัพยากรเช่นกัน” การอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน จึงเป็นการฟื้นคืนวิถีที่นำไปสู่การคืนทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชนในการทำกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง


โครงการอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน

บ้านปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์


เส้นทางการเดินเรือประมงยั่งยืน

โครงการอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน
โครงการ Goal Together
และโครงการ U Volunteer

     ประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพที่อยู่คู่ชีวิตคนริมฝั่งทะเลมาอย่างยาวนาน สั่งสมเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดส่งต่อ สร้างรายได้และหล่อเลี้ยงชีวิตให้ ชุมชนริมฝั่งจากรุ่นสู่รุ่น แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและจำนวนประมงพาณิชย์ รวมถึงการทำประมงที่ใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเลชายฝั่งจนทำให้สัตว์ น้ำที่เคยมีอยู่อย่างชุกชุมลดจำนวนลงส่งผลกับรายได้ ของชาวประมงพื้นบ้าน จนหลายครัวเรือนต้องหันไปทำอาชีพอื่น

     กลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เติบโตมากับการเลี้ยงชีพด้วยการประมงมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อเห็นปัญหาสัตว์ทะเลลดน้อยลงจึงลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ สร้างความร่วมมือของผู้คนในชุมชน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นคืนวิถีประมงพื้นบ้านและนำไปสู่การรักษาระบบนิเวศทางท้องทะเลในระยะยาว

     มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เห็นความมุ่งมั่นของกลุ่มเกษตรกรทำ ประมงปากน้ำปราณ จึงให้การสนับสนุนทั้งการปรับปรุงโครงสร้าง บ่อรับฝากและขยายพันธุ์ปูม้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เพียงพอต่อจำนวนแม่พันธุ์ปูม้าที่รับฝากจากสมาชิก สนับสนุนการจัดทำซั้ง หรือบ้านปลาจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (ประการังเทียมพื้นบ้าน) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกลุ่มงานวิชาการผ่านโครงการ U Volunteer กับมหาวิทยาลัยศิลปากร(วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี) ในการแปรรูปสินค้าจากวัตถุดิบ ที่รับซื้อจากสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ ภายใต้มาตรฐาน SALANA PGS เพื่อควบคุมคุณภาพการทำประมงพื้นบ้านและการแปรรูป สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องอาหารที่ปลอดภัยและการจับสัตว์น้ำที่ไม่ทำลายนิเวศทะเลชายฝั่งนอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังชวนอาสาสมัคร Goal Together เข้าไปเรียนรู้ชุมชนผู้อนุรักษ์และร่วมสนับสนุนชุมชนในวิถีอนุรักษ์อย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรม ‘ลงแรงทำซั้ง เรียนรู้ธนาคารปูม้าปากน้ำปราณ’ เพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ และการถ่ายทอดสู่สังคมต่อไปสร้างความร่วมมือกับคนในชุมชนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน คืนวิถีประมงพื้นบ้านนำไปสู่การรักษาระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว


'สร้างความร่วมมือกับคนในชุมชน ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
ยกระดับเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน คืนวิถีประมงพื้นบ้าน
นำไปสู่การรักษาระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว'


วิธีอนุรักษ์ปูม้า ฉบับคนปากน้ำปราณ

     โครงการเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณเป็นที่รู้จัก คือ ‘ธนาคารปูม้า’ หรือการอนุรักษ์ปูม้าโดยการให้ชาวประมงนำแม่ปูม้าไข่นอกกระดองที่จับได้มาบริจาคหรือฝากไว้ที่บ่อในธนาคารปูม้า เพื่อให้แม่ปูเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้องก่อนแล้วค่อยนำแม่ปูไปขาย เพิ่มโอกาสให้ไข่ฟักเป็นลูกปูวัยอ่อน เติบโตเป็นปูม้าขนาดใหญ่เพื่อสืบพันธุ์ต่อไป รวมทั้งยังมีการทำสัญญาใจ งดจับสัตว์น้ำในช่วงฤดูวางไข่เดือนตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี รวมถึงการเก็บข้อมูลทั้งงานบริจาค การขาย และติดตามผลอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสำรวจปริมาณคราบปูม้าของลูกปูแนวชายฝั่งรอบธนาคาร เพื่อยืนยันว่างานอนุรักษ์ที่ชุมชนทำสัมฤทธิ์ผลเป็นจำนวนประชากรปูที่กลับคืนมา

แผนผังความยั่งยืนของงานอนุรักษ์

ชาวประมงในพื้นที่และภาคีร่วมแรง

     ชุมชนจัดตั้ง ‘ธนาคารปูม้า’ เพื่อเป็นต้นแบบอนุรักษ์ให้กลุ่มประมงพื้นบ้านอื่นๆ และร่วมสร้างแนวเขตอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านระยะทาง 3,000 เมตร จากชายฝั่งตามกฎหมาย ทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้เครื่องมือทำประมงแบบถูกกฎหมาย และหาแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ร่วมกันโดยมีมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เข้ามาดำเนินกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายชุมชน สถานศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนตลอดแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ผ่านการสนับสนุนการวางซั้งใน พ.ศ. 2563-2565

ยกระดับชาวประมงสู่ผู้ประกอบการ

     มูลนิธิฯ จัดทำโครงการ U Volunteer โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี) สร้างการเรียนรู้ ยกระดับศักยภาพชุมชนต่อยอดจากการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธนาคารปู และการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ พร้อมกับจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากประมงพื้นบ้าน ฝีมือวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติพร้อมสนับสนุนการสร้างอาคารแปรรูปที่ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัย รวมทั้งให้ความรู้รวมกำหนดเงื่อนไขการทำประมง ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบการแปรรูปให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ภายใต้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SALANA PGS ชาวประมงจึงมีเศรษฐกิจชุมชนที่ดีขึ้น ส่งผลให้งานอนุรักษ์ไม่ขาดตอน และทรัพยากรในท้องทะเลได้รับการดูแลจัดการอย่างยั่งยืน

‘ผู้บริโภค’ มีส่วนร่วมกับชุมชนผ่านกิจกรรมอนุรักษ์และการอุดหนุนผลิตภัณฑ์

     มูลนิธิฯ เชื่อมโยงกับคนในสังคม ผ่านโครงการ Goal Together ลงแรงทำซั้ง เรียนรู้ธนาคารปูม้าปากน้ำปราณ นำอาสาสมัครร่วมลงแรงเรียนรู้งานอนุรักษ์ ทำและวางซั้ง จำนวน 100 ซั้งในปีนี้ ในแนวเขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเล (5.556 กิโลเมตร) ซึ่งเริ่มวางซั้งตั้งแต่ปี 63-65 วางไปแล้ว 275 ซั้ง อีกทั้งร่วมกับชุมชนคิดและทำ master plan เพื่อพัฒนาเป็นแนวคิดสำคัญในการส่งต่องานอนุรักษ์ให้เกิดเป็นรูปธรรมในชุมชน 


ชาวประมงพื้นบ้านและ (งานอนุรักษ์) ท้องทะเล

     “ถ้าเรายอมลำบากวันนี้วันข้างหน้าลูกหลานเราก็อาจจะสบาย ความยั่งยืนก็จะตามมา แต่ถ้าวันนี้เราเอาแต่สบาย อนาคตไม่มีสัตว์ทะเลก็ลำบากลูกหลานเรา ผมพูดประจำว่า ดู แลทะเล ทะเลก็ให้เราสร้างบ้านให้ปลา ปลาก็มา ถ้าเราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้เราต้องดูแลได้” เจือ แคใหญ่ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชายผิวคล้ำแดด ผู้ทำประมงพื้นบ้านมาค่อนชีวิต กล่าวอย่างมุ่งมั่นถึงการปกป้องท้องทะเลไทย

     เจือไม่ใช่คนปากน้ำปราณโดยกำเนิด เขาเติบโตในครอบครัวชาวเลที่จังหวัดเพชรบุรี หลังจากจบ ป.4 ก็ออกเดินทางจากบ้านเกิดมาฝากตัวกับไต้เรือที่ปราณบุรี เริ่มต้นออกเรือฉลอมล้อมจับปลาทู จนกระทั่งมีครอบครัวจึงเลือกลงหลักปักฐานที่ปากน้ำปราณ พร้อมกับออกมาทำประมงพื้นบ้านหาเลี้ยงครอบครัว

     “ตอนที่ออกเรือใหม่ๆ ทะเลมีกุ้งหอยปูปลาเยอะมาก แต่เวลาผ่านไปสัตว์น้ำก็เริ่มน้อยลง สาเหตุมาจากเรือประมงพาณิชย์เพิ่มจำนวน เครื่องมือประมงพัฒนาจนมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้จับสัตว์น้ำได้ตั้งแต่วัยอ่อน เมื่อสัตว์น้ำไม่มีโอกาสได้ขยายพันธุ์ก็ส่งผลกระทบต่อจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำ”

     เจือเล่าให้ฟังว่านอกจากจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง ใน พ.ศ. 2549 พื้นที่ปากน้ำปราณยังเผชิญปัญหาข้อพิพาทเรือคราดหอยลายเข้ามาในพื้นที่ชายฝั่งทำลายระบบนิเวศปากน้ำปราณ ชาวประมงจึงรวมตัวกันประท้วงเพื่อปกป้องชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นทรัพยากรหน้าบ้าน หลังข้อพิพาทยุติลงพวกเขาจึงได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณตามคำแนะนำของตำรวจน้ำและกรมประมง และได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการอนุบาลแม่ปููม้าจากกรมประมงโดยมีต้นแบบจากเกาะเตียบ จังหวัดชุมพร จึงหันมาทำธนาคารปูม้าเดินหน้าอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน ร่วมกับภาครัฐและเอกชน และทำซั้งเชือก ปะการังเทียมที่ทำให้สัตว์์น้ำเข้ามาในทะเลชายฝั่ง ทำให้ชาวประมงไม่ต้องหากินไกล

เคล็ดลับที่ทำให้ชาวประมงยังคงทำงานอนุรักษ์กันอย่างเหนียวแน่น

     ตอนเป็นรองประธานกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ (พ.ศ. 2556) ผมเป็นคนที่ถ้าทำอะไรก็ต้องรู้ให้ชัด ทำธนาคารปูก็ต้องไปเดินดูชายหาดรู้แล้วว่าปล่อยลูกปูกลางวันอัตราการรอดจะน้อยเราก็ปล่อยลูกปูกลางคืน เวลาน้ำขึ้นริมหาดได้เห็นลูกปูเยอะมากทีนี้ก็มาบอกกับสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณว่าต่อไปนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว ทรัพยากรปูม้าต้องกลับมาให้เราทำกินได้อย่างยั่งยืนแน่ ถ้าเราร่วมมือวางซั้ง หรือเก็บขยะ ทั้งนี้ก็ทำเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ขยะที่ไม่ให้ลงทะเลก็จะได้ไม่เป็นมลพิษของสัตว์น้ำใต้ทะเล พอชาวประมงเห็นเป็นรูปธรรม ทุกคนก็ให้ความร่วมมือดีครับ เพราะว่ามองเห็นแล้วว่าถ้าเราไม่ทำวันข้างหน้ามันก็จะหมดต่อมา พ.ศ. 2556-2557 ทางกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณก็เผชิญปัญหาข้อพิพาทเรือคราดหอยในพื้นที่กลับมาทำลายระบบนิเวศปากน้ำปราณ ช่วงนั้นก็เกิดความท้อถอยไปร้องไห้ที่ศาลากลางจังหวัด สมาชิกในกลุ่มก็บ่นว่าจะอนุรักษ์ระบบนิเวศไปให้คนอื่นมาทำลายทำไม ไม่มีประโยชน์ผมได้รับแรงบันดาลใจจากการทรงงานหนักของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าอย่าท้ออะไรง่ายๆ ผมก็บอกว่าตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือวางซั้งกอที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำให้มากและปล่อยลูกปูให้เยอะ

กลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณดำเนินงานอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านอย่างไรบ้าง

     การทำลายระบบนิเวศ ย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรของสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นขยะหรือน้ำมันเครื่องที่รั่วไหลลงสู่ ทะเล ทางกลุ่มจึงต้องมีกิจกรรมเก็บขยะวันพระกลางเดือนกับสิ้นเดือนร่วมกับเทศบาลมีโครงการรับฝากทิ้งน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว แล้วก็มีธนาคารปู อนุบาลให้แม่ปูเขี่ยไข่ก่อนค่อยขาย ขณะเดียวกันชาวประมงในกลุ่มมีข้อตกลงกันด้วยว่าถ้าปูม้าขนาดต่ำว่า 10 เซนติเมตรเราจะไม่จับซึ่งตั้งแต่ไหนแต่ไรวิถีของชาวประมงพื้นบ้านจะเลือกจับสัตว์น้ำตาม ฤดู กาล และเลือกจับสัตว์ที่มีจำนวนมาก อย่างเวลาออกไปจับปลาถ้าได้ปลาน้อยก็อาจจะเปลี่ยนไปจับกุ้ง พอกุ้งได้น้อยก็เปลี่ยนไปจับปูเวียนไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าสัตว์ชนิดไหนมีจำนวนน้อยแล้วจะจับให้หมดจนสูญพันธ์ุ พอมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เข้ามาก็สนับสนุนงบประมาณปรับปรุงธนาคารปูให้ดีขึ้น นำจิตอาสามาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านเรื่องการอนุรักษ์ เพื่อการฟื้นฟูดู แลทะเล ทำกิจกรรมวางซั้งเชือกสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและเป็นแนวเขตอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์ห่างจากชายฝั่ง 3,000 เมตร และนำนักวิชาการ อาจารย์รชกร วชิรสิโรดม อาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี) เข้ามาศึกษาวิจัยและเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มในเวลาต่อมา นำความรู้ทางวิชาการและการจดบันทึกดูแลงบประมาณเข้ามาเติมเต็มให้ชาวบ้าน นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังช่วยสร้างห้องแปรรูปปูม้า ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการรับจ้างแกะปู เวลาชาวประมงได้ปูม้ามา ปูขนาดใหญ่ก็จำหน่ายให้ผู้บริโภค ขนาดรองลงมาก็มาแปรรูปเป็นเนื้อปู เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มาดูธนาคารปูที่บางครั้งอยากกินปู และใน พ.ศ. 2566 อาจารย์รชกรก็จะมาช่วยทำศูนย์วิจัยชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว

หลังจากดำเนินงานโครงการมา มีความเปลี่ยนแปลงทางบวกต่อชาวประมง และทรัพยากรทางทะเลอย่างไร

     จากทรัพยากรทางทะเลที่เคยย่ำแย่ ปัจจุบันเรียกว่าดีขึ้นพอสมควร คนในชุมชนได้มีอาชีพเสริมมีรายได้ ทำให้มี ความรัก ความสามัคคีกัน เกิดการมีส่วนร่วม แล้วก็รู้จักหวงแหนทรัพยากรหน้าบ้านตัวเอง เมื่อก่อนเรือจับปูมี 7-8 ลำจับปูได้แค่เดือนกันยายนก็ต้องหยุดเพราะรายได้ไม่พอค่าครองชีพแต่ ณ ปัจจุบันเรือที่จับปูมี 30 กว่าลำจับปูได้ทั้งปชาวประมงมีรายได้ ขณะเดียวกันกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณ ก็มารับซื้อปูเพราะว่าคนมาธนาคารปูอยากกินปูด้วยมีการจดบันทึกไว้พบว่า พ.ศ. 2565 น่าจะมีเงินสะพัดในธนาคารปูที่ 8 ล้านกว่าบาทจากเรือ 10-12 ลำถ้ารวมเงินที่เขาไปขายที่อื่นด้วย

‘จากทรัพยากรทางทะเลที่เคยย่ำแย่ ปัจจุบันดีขึ้น คนในชุมชนมีอาชีพเสริม มีรายได้ทำให้มีความรัก ความสามัคคีกันเกิดการมีส่วนร่วม รู้จักหวงแหนทรัพยากรหน้าบ้านตัวเอง’

     ปีนึงคิดว่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน อันนี้เป็นตัวชี้วัดที่ว่าการที่เรามีธนาคารปู เราดูแลทะเล ทำให้ปูม้ากลับมาให้เราจับได้ทั้งปีแล้วก็ทำให้คนในชุมชนมีรายได้และมีอาชีพเสริม

มองเห็นอนาคตและความท้าทายข้างหน้าของการอนุรักษ์ท้องทะเลอย่างไรบ้าง

     นอกจากเรื่องธนาคารปููและการวางซั้ง ตอนนี้ผมมองเห็นปัญหาธรรมชาติเปลี่ยน โลกร้อนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำเพราะน้ำร้อนสัตว์น้ำที่เคยอยู่ในน้ำตื้นก็จะถอยออกนอกชายฝั่ง สร้างความเดือด-ร้อนให้ชาวประมงพื้นบ้านถ้าสัตว์น้ำขยับไปในทะเลลึก เราก็จะหากินไม่ได้ เพราะประมงพื้นบ้านต้องหากินในเขตทะเลชายฝั่งตามที่กฎหมากำหนด ตอนนี้ก็มีอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาช่วยดูเรื่องการท่องเที่ยว มาทำธนาคารปูเป็นศูนย์การท่องเที่ยวให้ปากน้ำปราณ เพราะต้องหาอาชีพเสริมให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นมาด้วย

วิธีรวมกลุ่มทำงานอนุรักษ์ให้ยั่งยืน

การทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนต้องสร้างความสามัคคีภายในกลุ่ม เพื่อจะนำไปสู่ ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ในระหว่างดำเนินงานต้องมีความจริงใจ จริงจัง ตั้งใจในการทำงานถ้าเกิดปัญหาภายในกลุ่มต้องกลับมาพูดคุยกันและจบทุกอย่างด้วยการเจรจา
หมั่นเติมความรู้เชื่อมต่อกับเครือข่ายพี่น้องชาวประมงทะเลชายฝั่งทั้ง 23 จังหวัด เพื่อนำองค์ความรู้ในแต่ละพื้นที่มาปรับใช้ในการดำเนินงานของกลุ่ม