โครงการ

Close

ศิลปวัฒนธรรม

โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี”

โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี”

วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี”

จรัญ พูลลาภ จัดทำคำบรรยาย

โขน เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยมาแต่โบราณ มีกำเนิดมาจากการเล่นโบราณ ๓ อย่าง คือ ชักนาคดึกดำบรรพ์ กระบี่กระบอง และหนังใหญ่ นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกผู้แสดงจะสวมหัวโขนปิดหน้าและใช้ผู้ชายแสดงทั้งหมดไม่สามารถพูดเองได้ต้องมีผู้พูดแทน เรียกว่า ผู้พากย์ – เจรจาและขับร้อง ผู้แสดงต้องแสดงท่าเต้น ท่ารำไปตามคำพากย์ - เจรจา บทร้อง และเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลง ต่อมาได้วิวัฒนาการให้ผู้แสดงซึ่งสมมติเป็นเทพบุตร เทพธิดาและมนุษย์ชายหญิง สวมแต่เครื่องประดับศีรษะไม่ต้องปิดหน้าทั้งหมดและใช้ผู้หญิงเข้าร่วมแสดง แต่ยังคงรักษาจารีตการแสดงแบบดั้งเดิมไว้ คือ มีผู้พากย์ – เจรจาและผู้ขับร้องแทน เว้นแต่ตัวตลกที่สามารถพูดได้ด้วยตนเอง


เนื้อเรื่องการแสดง

กล่าวถึงพระอิศวรมอบบำเหน็จความชอบแก่พญากากาศที่ชะลอเขาพระสุเมรุที่เอนทรุดให้ตั้งตรงได้ โดยประทานนามให้ว่า “พญาพาลีธิราช” และประทานตรีเพชรสุรกานต์ให้เป็นอาวุธประจำกายแล้วประทานพรว่า เมื่อต่อสู้ให้ได้กำลังศัตรูแบ่งมาสมทบครึ่งหนึ่ง จากนั้นจึงออกพระโอษฐ์ฝากผอบบรรจุนางเทพดาราไปประทานแก่สุครีพน้องชายแต่พระนารายณ์ซึ่งเฝ้าอยู่ด้วยทูลทัดทานว่าไม่ควรฝากสตรีงามไปกับบุรุษ เกรงจะไม่ถึงมือสุครีพ ดังเทวะประสงค์ เมื่อพาลีได้ยินจึงกล่าวถวายสัตย์สาบาน ว่าหากตนคิดทรยศน้องชายขอให้ตายด้วยศร พระนารายณ์แล้วนำผอบเหาะกลับไปเมืองขีดขิน เมื่อมาถึงพาลีเฝ้าแต่ครุ่นคิดด้วยความสงสัยว่านางในผอบ จะงดงามเพียงใดจึงเปิดออกดูเห็นความงามของนางเทพดารา บันดาลให้ลืมคำสัตย์สาบานต่อพระนารายณ์ เข้าเล้าโลมเกี้ยวพานจนได้นางเทพดาราเป็นชายากล่าวถึงทรพีควายผู้ลูกทรพากับนางนิลากาสร ซึ่งได้ลอบมาคลอดในถ้ำฝากเทวดาช่วยพิทักษ์เลี้ยงดู เป็นเหตุให้ทรพีมีฤทธิ์จิตหยาบช้า คอยวัดรอยเท้าทรพาพ่อของตนจนเท่าจึงไปสู้รบฆ่าบิดาตาย ยิ่งกำเริบฤทธิ์ขึ้นไปท้าพระอิศวรรบถึงวิมานเขาไกรลาส พระอิศวรให้ลงมาสู้กับพาลีและสาปให้ตายด้วยฤทธิ์ของพาลี เมื่อพาลีถูกทรพีมาท้าทายสังเกตว่าทรพีมีฤทธิ์และกำลังผิดธรรมดา จึงออกอุบายให้ไปสู้รบในถ้ำแล้วสั่งสุครีพน้องชายให้หมั่นพาพลมาตรวจดูหน้าถ้ำ ถ้าเห็นเลือดข้นไหลออกมาหมายความว่าตนมีชัยชนะ แต่ถ้าเลือดใสหมายความว่าตนสิ้นชีวิต ให้รีบขนหินมาปิดปากถ้ำอย่าให้ทรพีออกมาได้ สั่งแล้วก็เข้าไปรบกับทรพีในถ้ำ สู้กันอยู่นานไม่อาจชนะได้พาลีสงสัยว่าคงมีเทวดาคอยรักษากายจึงร้องถามแต่ทรพีควายอกตัญญูมิได้รู้คุณเทวดา กลับตอบว่าเก่งด้วยตนเองไม่มีเทวดาช่วยเหลือ เมื่อสิ้นคำเทวดาต่างพากันออกจากกาย ทรพีจึงถูกพาลีฆ่าถึงแก่ความตาย ขณะนั้นบังเกิดฝนตกลงมาชะล้างเลือดทรพีที่มีสีข้นกลายเป็นเลือดใส เมื่อสุครีพมาเห็นก็ตกใจและเสียใจคิดว่าพาลีตาย จึงสั่งพลลิงขนหินมาปิดปากถ้ำ


ฝ่ายพาลีเห็นปากถ้ำถูกปิดก็โกรธ คิดว่าสุครีพผูกใจเจ็บแค้นจะฆ่าตนเพราะเรื่องนางเทพดารา จึงตัดหัวทรพีขว้างทำลายปากถ้ำออกมาไล่ฟาดฟันขับไล่สุครีพออกจากเมืองโดยไม่ฟังเหตุผล สุครีพหนีมาในป่าจนมาพบหนุมานหลานชายพาไปเฝ้าพระราม พระลักษมณ์ กราบทูลเรื่องราวให้ทราบ พระรามรำลึกถึงคำพาลีที่เคยถวายสัตย์สาบาน จึงให้สุครีพไปท้าออกมารบเพื่อจะแผลงศรสังหาร เมื่อสุครีพล่อพาลีออกมาต่อสู้บนท้องฟ้า พระรามจึงแผลงศรพรหมาสตร์หมายจะสังหาร แต่ความเก่งกาจของพาลีสามารถจับลูกศรไว้ได้แล้วเหาะลงมาต่อว่าพระราม แต่เมื่อเห็นพระรามเป็นพระนารายณ์และกล่าวทวงสัตย์สาบาน พาลีก็สำนึกผิดทูลถวายชีวิตและฝากสุครีพพร้อมพลวานรถวายเป็นข้าพระรามแล้วสั่งสอนสุครีพจนเสร็จสิ้น ก็ใช้ลูกศรปักตัวเองถึงแก่ความตาย


สุครีพนำร่างพาลีกลับไปกรุงขีดขินแล้วนำไพร่พลวานรมาถวายเป็นข้าทหารตามสัตย์สัญญา พระรามจึงยกกองทัพข้ามมหาสมุทรไปทำสงครามกับทศกัณฐ์ยังกรุงลงกา ฝ่ายทศกัณฐ์รู้ข่าวก็บัญชาใช้ญาติวงศ์และมิตรสหายออกรบต่างพ่ายแพ้สิ้นชีวิต ทศกัณฐ์จึงยกกองทัพออกรบเป็นศึกใหญ่ แต่ไม่อาจชนะพระรามได้ต้องถอยทัพกลับเข้ากรุงลงกา พระรามรู้จากพิเภกว่าไม่สามารถสังหารทศกัณฐ์ได้เพราะถอดดวงใจออกจากร่างฝากไว้กับพระฤษีโคบุตรผู้เป็นอาจารย์ ต้องให้ข้าทหารอาสาไปลวงเอามาทำลายแล้วแผลงศรซ้ำ หนุมานขออาสาและขอองคตไปด้วย เมื่อหนุมานวางอุบายลวงเอากล่องดวงใจทศกัณฐ์มาได้สำเร็จมอบให้องคตเก็บรักษาไว้แล้วแกล้งให้พระฤษีพาไปฝากตัวกับทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ครั้นเห็นหนุมานเข้ามาก็โกรธแต่พอได้ฟังเหตุผลของพระโคบุตรฤษีก็ยอมรับหนุมานไว้แต่งตั้งให้เป็นอุปราช กรุงลงกา ทศกัณฐ์เสียรู้หนุมานถูกหลอกให้ออกรบจนถึงแก่ความตาย

เมื่อเสร็จศึกขณะนั้นครบเวลา ๑๔ ปีตามที่พระรามรับสัตย์ไว้ พระพรต พระสัตรุด และสามพระมารดาเสด็จมาพร้อมกระบวนเกียรติยศมาอัญเชิญพระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ กลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา พระรามเสด็จขึ้น เถลิงถวัลยราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงศรีอยุธยา ยังความปลาบปลื้มโสมนัสแก่เหล่าบรรดาเทพบุตร นางฟ้า พากันมาร่วมรำร่ายถวายพระพรชัยมงคลแซ่ซ้องสรรเสริญพระบารมีสมเด็จพระรามและพระบรมวงศ์จักรีทุกพระองค์ให้ทรงพระเจริญ


โดยในปี ๒๕๖๗ นี้ กรมศิลปากร โดยสำนักการสังคีต กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จัดการแสดงสุดยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ผสานสองมรดกที่ขึ้นทะเบียนรับรอง โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) “โขน - มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” และ “วัดไชยวัฒนาราม – โบราณสถานที่ตั้งอยู่ในเขตมรดกโลก” กับการแสดงโขนประกอบแสงสี เรื่องรามเกียรติ์ ชุด สัจจะพาลี ณ วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ ๙ - ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๗ เพื่อสืบสานและเชิดชูวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่า สอดคล้องกับปณิธานในการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงานที่มุ่งหมายในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทย รวมถึงในระดับนานาชาติ



การเดินทางไปจังหวัดอยุธยาจากกรุงเทพมหานคร

รถยนต์ส่วนตัว : จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ขับผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) แล้วข้ามสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานีต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) เลี้ยวแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบเส้นทางที่เหมาะสมเพิ่มเติมได้จากแอปพลิเคชัน Google Map
- รถตู้ นักท่องเที่ยวสามรถขึ้นรถตู้กรุงเทพ-อยุธยาได้ที่สถานีขนส่งหมอชิต หรือบริเวณห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 60 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและจุดขึ้นลงรถ
- รถไฟนักท่องเที่ยว สามารถใช้บริการรถไฟที่วิ่งเส้นทางสายเหนือจากสถานีหัวลำโพง ลงที่สถานีพระนครศรีอยุธยา โดยมีขบวนรถไฟให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04.20 – 22.45 น. ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาทสำหรับรถไฟชั้น 3 นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยที่เบอร์ 1690 หรือ www.railway.co.th


การเดินทางไปยังวัดไชยวัฒนาราม
- รถยนต์ส่วนตัว วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่บริเวณนอกเกาะอยุธยา โดยใช้เส้นทางวิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยสะพานกษัตราธิราช เมื่อลงจากสะพานให้เลี้ยวซ้าย จากนั้นขับตรงไปอีกประมาณ 750 เมตร จะพบกับตัววัด(มีที่จอดรถบริการที่หน้าวัด)
- รถตุ๊กตุ๊กภายในตัวเมืองอยุธยา มีรถตุ๊กตุ๊กให้บริการในอัตรา 20-40 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับระยะทาง สำหรับการเหมารถ ค่าเช่าตุ๊กตุ๊กต่อชั่วโมงจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 200 บาท
- Grabcar พื้นที่จ.อยุธยามีระบบเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab ให้บริการ โดยสามารถตรวจสอบอัตราค่าโดยสารแต่ละครั้งได้บนหน้าจอก่อนที่จะกดเรียกรถไปยังสถานที่ต่างๆ โดยนักท่องเที่ยวสามารถดาวน์โหลดแอป Grab ได้ที่ http://grb.to/2F9a2bx เวลาในการเปิด–ปิดทำการ วัดไชยวัฒนารามเปิดทำการทุกวัน เวลา 08.00-18.00น.


ขอขอบคุณข้อมูลการเดินทางจาก : go.ayutthaya.go.th

โขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “สัจจะพาลี”

วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

{progress_list} {/progress_list}